กลุ่มผู้ไทยในภาคอีสาน มีความสามารถทอจกได้อย่างวิจิตรบรรจง งดงาม ผ้าจกผู้ไทยที่รู้จักกันดีคือ ผ้าแพรวา ซึ่งชาวผู้ไทยใช้ห่มเฉียงไหล่ คลุมไหล่ คล้ายผ้าสไบ โดยผู้หญิงชาวผู้ไทยใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลงานบุญประเพณี หรืองานพิธีสำคัญ
ผ้าแพรวา หมายถึง ผ้าทอที่มีความยาว 1 วา แต่เดิมนั้น จะเน้นโทนสีแดงที่ได้มาจากการย้อมขี้ครั่ง หรือแก่นของต้นฝาง ผ่านการขิด จก และมัดหมี่สลับเส้นด้าย เป็นลวดลายด้วยกี่ทอผ้า ให้มีลวดลายสีสันงดงาม
ชาวผู้ไทยนิยมทอคู่กับผ้าแพรมน ซึ่งเป็นผ้าขนาดเล็ก รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ถ้าพับครึ่งแล้ว ก็จะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ผ้าแพรมนนิยมทอด้วยวิธีจก เช่นเดียวกับผ้าแพรวา
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากท้องตลาดและความทันสมัยเข้ามาสู่ชุมชน ทำให้การทอผ้าใช้เองในครัวเรือนเริ่มลดน้อยลงจนเกือบสูญหายไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาที่บ้านโพน อำเภอคำม่วงในปี พ.ศ. 2520 สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชการที่ 9 มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการรื้อฟื้นการทอผ้าไหมแพรวาแบบโบราณขึ้นใหม่ ทรงรับอุปถัมภ์ผลิตภัณฑ์ผ้าแพรวาไว้ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยทรงแนะนำให้มีการพัฒนาลวดลาย ขนาด และสีสันให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด สามารถนำมาตัดชุดและประยุกต์เป็นเครื่องแต่งกายได้อย่างทันสมัย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดเจตนารมย์ โดยสนับสนุน ส่งเสริม สานต่องานด้านการอนุรักษ์ ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้คงอยู่ เป็นเอกลักษณ์ของผู้ไทยกาฬสินธุ์ ที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงในระดับโลกตลอดไป